วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อ่าวคุ้งกระเบน


อ่าวคุ้งกระเบน

"ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทย
เรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน  จึงควรหาทางป้องกันอนุรักษ์
และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกางเป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัย
ระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้
กรมชลประทานและกรมอุทกศาสตร์ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสม
ในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป"


พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(นายโฆษิต ปั้นเปื้อนรัษฎ์) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2534
ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
            ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน อยู่ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ท้องที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี  มีพื้นที่ประมาณ 1,100 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้งกระเบนและป่าอ่าวแขมหนู  ในปัจจุบันจัดว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดจันทบุรี มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 30 ชนิด ขึ้นกระจายปกคลุมอยู่รอบอ่าว เป็นแนวกว้างโดยเฉลี่ย 30-200 เมตร และโค้งยาวไปตามขอบอ่าวเป็นระยะทางถึง 5 กิโลเมตร  ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนจัดว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริป่าชายเลนแห่งนี้เป็นบริเวณที่มีเสน่ห์ และมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในรูปของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต (Living museum)  รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบของนิเวศทัศนา (Eco-tiurism)
ทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน

          สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน  เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.  2539   โดยงานป่าไม้ เป็นผู้สำรวจและออกแบบก่อสร้าง  ตัวสะพานทางเดินสร้างด้วยไม้ตะเคียนทอง  (Hopea  odorata)  มีความยาวทั้งสิ้น  1,433 เมตร   และยังมีส่วนที่เป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหินทรายยาว  363  เมตร รวมเป็นระยะทางเดินศึกษาธรรมชาติทั้งสิ้น  1,793  เมตร   จุดเริ่มต้นซุ้มประตูศาลาทางเข้าอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของอ่าวคุ้งกระเบน ห่างจากสำนักงานอาคารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ฝั่งตรงข้ามถนนเพียง 200 เมตร เส้นทางเดินของสะพาน จะผ่านบริเวณสังคมพืชไม้เบิกนำจำพวกไม้แสม  ไม้ลำพู  แปลงเพาะชำกล้าไม้  แปลงปลูกป่าไม้โกงกาง  แปลงศึกษาวิจัย  ข้ามสะพานแขวนไปสู่ป่าธรรมชาติ  ที่มีไม้โกงกางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นสมบูรณ์ จากนั้นสะพานจะวกกลับผ่านแปลงทดลองการปลูกป่าชายเลนผสมผสานกับการเลี้ยงปลา  ผ่านบ่อทดลองการเลี้ยงกุ้งทะเล ที่มีการรักษาสภาพแวดล้อมโดยระบบชลประทานน้ำเค็ม และไปสิ้นสุดที่ศาลาเชิงทรงซึ่งอธิบายลักษณะของพื้นที่และพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ระหว่างรอยต่อป่าชายเลนและป่าบก  บริเวณสะพานทางเดินได้จัดสร้างศาลาสื่อความหมายธรรมชาติ (Nature Interpretation)  และระเบียงหยุดพักชมธรรมชาติเป็นระยะๆ  เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาหาความรู้เรื่องราวของป่าชายเลนบนบอร์ดนิทรรศการ  พร้อมกับดูตัวอย่างจากของจริงบริเวณรอบ ๆ ศาลา จำนวนทั้งสิ้น 10  ศาลาดังนี้
 
   ศาลาที่  1 กำเนิดอ่าวคุ้งกระเบน
     อธิบายเรื่องการกำเนิดของอ่าวคุ้งกระเบนและป่าชายเลน  ในลักษณะของวิชาธรณีสัณฐาน  (Geomorphology)
ศาลาที่ 2 ไม้เบิกนำ (ทัพหน้าป่าชายเลน)
    อธิบายเรื่อง  สังคมพืชไม้เบิกนำในป่าชายเลน  ได้แก่  ไม้แสม  และไม้ลำพู
ศาลาที่ 3 ดงฝาด
    อธิบายเรื่องระบบรากของต้นไม้ป่าชายเลน  และการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ป่าชายเลน
      ศาลาที่ 4  ป่าปลูก
           อธิบายเรื่องการปลูกต้นไม้
       ป่าชายเลน และห่วงโซ่อาหาร
       ในป่าชายเลน
 
  ศาลาที่ 5  ปู่แสม
        อธิบายเรื่องวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน
  และการเก็บหาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบริเวณ
  ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน
ศาลาชมวิว       เป็นศาลาที่สร้างยื่นออกไปในอ่าวสามารถมองเห็นแนวป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ที่ทอดตัวเป็นแนวโดยรอบ ผู้มาเที่ยวชมจะได้เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านและชาวประมงขนาดเล็กที่ผูกพันอยู่กับผืนน้ำและผืนป่าแห่งนี้ทั้งในยามน้ำขึ้นและน้ำลด
ศาลาพะยูน             อธิบายถึงความสำเร็จในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน  เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญ  คือการที่มีพะยูนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายไปจากอ่าวคุ้งกระเบนเป็นเวลานับสิบปี ได้หวนกลับเข้ามาหา
กินหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนอีกครั้งหนึ่ง
     ศาลาคายัก
          เป็นท่าจอดเรือคายักของ  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งระเบนฯ  ที่จัดเตรียมไว้เพื่ออำนวยความสะดวก
สำหรับผู้มาเที่ยวชมป่าชายเลน โดยการพายเรือคายัก
ศาลาที่ 6 โกงกาง
   อธิบายเรื่องความสำคัญและประโยชน์ของไม้โกงกาง
ศาลาที่ 7  ป่าไม้ - ประมง
 อธิบายเรื่องการปลูกป่าชายเลนควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลากระพงขาว
ศาลาที่ 8  ลำพู
     อธิบายเรื่องไม้ในวงศ์ลำพู
และความสัมพันธ์ของหิ่งห้อย
กับต้นลำพู

 

ศาลาที่ 9  ประมง
    อธิบายเรื่องการเลี้ยงกุ้งระบบปิด เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม โดยใช้ป่าชายเลนเป็นตัวดูดซับธาตุอาหารและบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติและระบบชลประทานน้ำเค็ม
 

 
ศาลาที่ 10  เชิงทรง
    อธิบายระบบนิเวศวิทยาของพื้นที่  บริเวณรอยต่อระหว่างป่าบก และป่าชายเลน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น